นิมูระ และ มาโมรุ ทำงานในโรงงาน ทุกวันพวกเขาสวมยูนิฟอร์มสีขาวทำงานราวเครื่องจักรไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ทั้งคู่อยู่ในช่วงอายุยี่สิบกลางๆ ทั้งยุ่งยากและสับสน พวกเขาใช้เวลาว่างขลุกอยู่ด้วยกัน นิมูระมักไปที่ห้องของมาโมรุจ้องมองแมงกระพรุนแรงที่มาโมรุเลี้ยงไว้ ร่างบอบบางเคลื่อนไหวอย่างงดงามพลิ้วไหว แต่หากสัมผัสโดนอาจต้องพิษถึงตาย มาโมรุหลงไหลสัตว์ร้ายอันงดงามนี้ เขาค่อยๆตักน้ำเค็มออกจากตู้วันละหนึ่งถ้วยแล้วเติมน้ำจืดลงไปแทนที่ หวังให้มันวิวัฒนาการจนอยู่ในน้ำจืดได้ เจ้านายของคนทั้งคู่เป็นชายวัยปลายห้าสิบ เขามีบ้านหลังใหญ่อาศัยกับภรรยาและลูกสาว บางทีเขาก็ชอบเห็นคนทั้งคู่เป็นคนรับใช้ ให้ช่วยขนนู่นนี่อ้างว่าจะให้โบนัส บางทีก็ไปเยี่ยมพวกเขา มองดูแมงกระพรุนในตู้เอามือแหย่เล่นแล้วเลิกสนใจ ยึดเอาทีวีไปดูคนเดียว ยืมซีดีแผ่นโปรดของโนมูระไปฟัง พร่ำเพ้อเรื่องวัยหนุ่มแสนหวานที่ล่วงพ้น วันหนึ่งมาโมรุเอาแมงกระพรุนมาให้นิมูระดูแลแทน ต่อมาเขาทะเลาะกับเจ้านายแล้วลาออก หายเงียบไป นิมูระผู้เคว้งคว้างรู้สึกเหลืออด เขาคว้าท่อนเหล็กจากกองขยะหมายใจจะไปเอาซีดีคืนที่บ้านเจ้านาย แต่เมื่อไปถึงก็พบเจ้านายและภรรยากลายเป็นศพนอนจมกองเลือด
มาโมรุสารภาพหมดเปลือก โทษนั้นหนักหนาสาหัส มาโมรุทิ้งสัญญาณมือไว้ให้นิมุระก่อนหายจากตลอดกาล จากนี้เหลือเพียงเขากับแมงกระพรุนไฟ นิมูระเปะปะได้พบกับพ่อของมาโมรุที่ได้แต่มองลูกชายตายดับโดยไม่อาจทำอะไรได้ ทั้งคู่สานสัมพันธ์ประหลาดแปร่งเพี้ยน ระหว่างคนที่กำลังจะก้าวพ้นไปจากวัยหนุ่มสาวสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่และคนที่กำลังจะก้าวพ้นจากความเป็นผู้ใหญ่ไปสู่ความร่วงโรย
พลอตอาจดูไม่ใกล้เคียงกับการเป็นหนังของคิโยชิ คุโรซาว่ามากนัก ยิ่งเมื่อพิจารณาว่ามันเป็นหนังหลังจากหนังอย่าง CHARISMA และ KAIRO หนังสองเรื่องที่เคลือบคลุมไปด้วยบทจบอันสิ้นหวัง พิจารณากันตั้งแต่ชื่อหนัง ที่พูดถึง ‘อนาคตอันสดใส’ (ราวกับบ่งบอกตอนจบไว้ตั้งแต่ชื่อเรื่อง) หรือการเล่าเรื่องแบบ ‘ชีวิตสับสนของวัยรุ่น’ การ ‘ก้าวพ้นวัยเยาว์’ รวมถึงการใช้บริการนักแสดงหน้าตาดีมีลักษณะขบถอย่าง ทาดาโนบุ อาซาโน หรือโจ โอดากิริ (ครั้งที่ยังเป็นหน้าใหม่)
หาก ‘ความเป็นหนุ่มเป็นสาว’ในหนังของคุโรซาว่า ย่อมไม่ใช่ในนิยามเจือน้ำตาลเยี่ยงนั้น เพราะใน BRIGHT FUTURE คุโรซาว่าเปรียบเปรยความเป็นหนุ่มเป็นสาวว่าคล้ายคลึงกับแมงกระพรุนไฟ โปร่งใส เปราะบาง เคลื่อนไหวอย่างดงามราวกับเริงระบำ หากประจุพิษร้ายที่เพียงแค่สัมผัสต้องอาจทำลายผู้คนรอบข้างไปเสียสิ้น มาโมรุผูกโยงตัวเองเข้ากับแมงกระพรุนไฟ สัตว์ซึ่งมีสันดานอยู่ในน้ำเค็ม เขาจับมันมาใส่ตู้ พยายามเจือน้ำจืดลงไปทีละน้อย คาดหวังว่าจะเจือจางสัญชาตญาณของความเป็นแมงกระพรุนลงไปได้ เฉกเช่นกับที่เขาและนิมูระ ต้องเจือสัญชาตญาณอันดิบเถื่อนภายในของความเป็นหนุ่มเป็นสาว พยายามอย่างหนักที่จะเป็นแรงงานราคาถูกในโลกทุนนิยมที่พวกเขาไม่เพียงต้องจำแลงกาย หากต้องจำนนต่อสภาพแวดล้อมรอบข้างอีกด้วย
หากมาโมรุคือกระพรุนไฟที่มีสัญชาตญาณดิบรุนแรงมากมายเกินไป น้ำจืดในสังคมทำให้เขาถึงตาย เขาจึงปลดปล่อยพิษร้ายทำลายเจ้านายเจ้านายใจจืดที่บังอาจแตะสัมผัสโดนส่วนลึกในใจของเขาอย่างไม่ปรานีปราศรัย
ในขณะเดียวกันเขาส่งต่อแมงกระพรุนไฟให้กับนิมูระ ชายหนุ่มผู้สับสนและเซ่องหงอย นิมูระมักฝันเห็นอนาคต แต่มันไม่เคยเป็นชิ้นเป็นอันหรือจับต้องได้ จะกล่าวว่าเขาเป็นเพียงคนหนุ่มที่ทุกข์ทนกับความฝันลมๆแล้งๆไปวันๆก็มิผิด นิมูระเอาแต่ติดตามมาโมรุต้อยๆในฐานะเพื่อนสนิทและทั้งในฐานะสาวกลูกศิษย์ของมาโมรุ เขารับเอาแมงกระพรุนมาดูแลเพียงเพราะมั้นเป็นสมบัติของมาโมรุ เขารับผิดชอบและทำทุกอย่างแทนที่มาโมรุ ในฐานะคนรับใช้ไม่ใช่ในฐานะนักเรียนหรือเจ้าของ เมื่อเขาสิ้นท่ายอมจำนนถึงขนาดที่จะรอคอยมาโมรุออกจากคุก มาโมรุจึงไล่ตะเพิดเขาอย่างไม่ใยดี นิมูระอาละวาดทำลายตู้แมงกระพรุนเขาทำมันร่วงลงลอดใต้พื้นไม้ของบ้านเช่าไหลลงไปในดงน้ำครำ
หากมาโมรุ คือ แมงกรพะรุนที่ไม่อาจอยู่ในน้ำจืดได้ นิมูระก็เป็นเพียงแมงกระพรุนในตู้ หนังเชื่อมโยงนิมูระกับแมงกระพรุนผ่านเสื้อผ้าที่ขาดกะรุ่งกะริ่งตลอดเวลา เมื่อใดที่เขาเดินหรืออกวิ่ง เขาดูไม่ต่างจากแมงกระพรุนที่แหวกว่ายในตู้ ซึ่งในที่นี้ อาจทั้งคือโรงงานที่เขาทำงาน โลกจริงที่เขาต้องรับมือ และกระทั่งกรอบคิดของมาโมรุวีรบุรุษผู้ลาลับของเขา
หนังให้นิมูระเกร่ไปตามสังคมรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่คนงานในโรงงาน การได้เข้าไปในชีวิตของน้องสาวกับแฟนหนุ่มของหล่อนซึ่งเป็นพนักงานออฟฟิศ การเข้าไปช่วยงานพ่อของมาโมรุ ชายชราที่ไปรื้อของจากกองขยะมาซ่อมแซมแล้วขายในราคาถูก ไปจนถึงการไปอยู่ในสังคมของเด็กรุนต่อมาที่ชักนำเขาไปสู่อาชญากรรม แต่ไม่ว่าจะมีชีวิตรูปแบบใน ยอมจำนนโดยสิ้นเชิงหรือต่อต้านอย่างรุนแรงเขาก็ไม่อาจพบโลกที่เหมาะสมกับเขาได้
ในขณะเดียวกันหนังนำเสนอส่วนของพ่อของมาโมรุในฐานะคนผู้ย่างเข้าสู่วัยชรา ยอมจำนนในทุกกรณี เขาทำงานเป็นช่างซ่อมของที่ถูกทิ้ง เขาเอาของจากกองขยะมาปรับนู่นเติมนี่ให้พอใช้ได้จากนั้นก็ขายมันไปในราคาถูก ลูกกับเมียไม่ยอมพูดคุยกับเขาอีกต่อไป (ฉากหนึ่งในหนังเขาไปหาลูกชายคนเล็กเพื่อบอกข่าวของมาโมรุ และชักชวนให้มาพบกันสักครั้งหนึ่งในฐานะครอบครัว หากลูกชายของเขากลับปฏิเสธ และทำท่ารังเกียจราวกับเขาเป็นขยะกองหนึ่ง) ลูกจ้างที่ทำงานกับเขาก็มาลาออกด้วยเหตุผลว่านี่คืองานที่ไร้อนาคต เขาเป็นเหมือนภาพทำนายชีวิตของคนรุ่นเดียวกับ นิมูระ และ มาโมรุ เป็นภาพอนาคตสลัวรางที่เด็กรุนนี้หลีกเลี่ยง ปฏิเสธไม่ยอมรับ นิมูระ อาจจะย้ายมาอยู่กับเขา แต่หากกลับยังหมกมุ่นอยู่กับการดูแลแมงกระพรุนของมาโมรุซึ่งเขาพบว่ามันสามารถอยู่ในน้ำจืดได้ ซ้ำยังแพร่พันธุ์ออกไปได้อีกเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่หนังซึ่งพูถึงความฝันของคนหนุ่มสาว มักเลือกมองความฝันในภาพของความดีงาม การเปลี่ยนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ทั้งในเชิงอุดมคติของสังคม หรือเชิงปัจเจก แต่ใน BRIGHT FUTURE ความฝันกลับถูกนำเสนออย่างคลุมเครือและเอาเข้าจริงเป็นเพียงเรื่องเพ้อเจ้อที่มีไว้เพื่อปลอบประโลมชีวิตวัยเยาว์ของมนุษย์เท่านั้น ในช่วงต้นเรื่อง หัวหน้างานของนิมูระพูดถึงความฝันวัยเยาว์ แต่เขาอธิบายมันไม่ได้เพราะเขาลืมไปแล้ว หรือเพราะจริงๆมันไม่ได้มีอยู่ ตลอดเวลานิมูระบอกว่าเขาฝันเห็นอนาคต แต่เขาไม่เคยอธิบายได้ว่าความฝันที่ว่านั้นมีรูปทรงเป็นเช่นไร ครั้นในฉากหนึ่งเมื่อหนังฉายภาพความฝันของเขาชัดแจน เรากลับพบว่ามันเป็นเพียงภาพของของเขาเดินอยู่กลางลมพายุที่พัดกองขยะปลิวว่อน ในยามเยาว์วัยเรามักพร่ำเพ้อเกี่ยวกับความฝัน ความฟุ้งฝันและสีสันเลื่อมพรายของมัน เพื่อที่เมื่อเราโตขึ้นเราจะไหลไปสู่ระบบของการเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่ง เป็นพนักงานออฟฟิศ เป็นคนถ่ายเอกสาร เป็นคนกวาดขยะ หรือเป็นคนงานในโรงงาน พอเวลาผ่านไป เราอาจย้อนรำลึกและนึกทุกข์ในใจที่ไม่อาจ ‘ทำตามความฝัน’ ถึงตอนนั้นมันง่ายดาย เพราะความฝันของเราจางรูปลงจนไม่สามารถอธิบายมันได้ชัดเจนอีกแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม ความฝันใฝ่ของหนุ่มสาวที่ในที่สุดหลบหนีกระแสสังคมออกมาได้พ้นมันมีหน้าตาเป็นเช่นไรกัน กลางความสับสนนิมูระไม่สามารถอธิบายได้ว่าเมื่อเขาไม่ยอมจำนนต่อการกลายเป็นฟันเฟืองในสังคมแล้วเขาจะทำอะไรต่อ เขาเอาแต่เลี้ยงแมงกระพรุนไปวันๆ กล่อมให้ตัวเองเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ฝัน จนเมื่อวิญญาณของมาโมรุออกมาเตือนเขาด้วยการทำลายมันลง
หากฉากที่อธิบายถึงรูปทรงของความใฝ่ฝันได้ดีที่สุดคือฉากหนึ่งที่นิมูระปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้าน ก่อนหน้านั้นเขานั่งซ่อมข้าวของเหลือใช้ฟังข่าวทีวีเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำ (ในทางหนึ่งมันอาจคือช่องทางให้ของเหลือใช้พวกนี้ขายได้ และเขาอาจจะยึดมันเป็นอาชีพ กลายเป็นคนทำงานแบบเดียวกับที่เขาหนีมา ) ตามด้วยข่าวของการพบแมงกระพรุนไฟทะเล ที่มาอาศัยอยู่ในน้ำจืด ข่าวทั้งสองนี้คือสองฟากของวัยหนุ่มสาวของผู้คน การยอมจำนนอย่างหมดรูปหรือการต่อต้านขืนสุดกำลัง หลังจบข่าวนิมูระปีนขึ้นไปลบนหลังคาบ้าน ที่เขาทำคือหักเสาอากาศทีวีทิ้ง แล้วบอกกับพ่อของมาโมรุว่า เขาขึ้นไปบนนั้น เพื่อมองไปยังที่ไกลๆ และเขาพบว่าเขาไม่ได้เห็นอะไรมากขึ้นเลย ความใฝ่ฝันไม่ได้พังยับเยิน เขาไม่ได้ยอมจำนน แค่เขาเรียนรู้ว่าความฝันจริงๆอาจไม่ได้มีอยู่มาแต่ต้น
หนังจบลงตรงที่แมงกระพรุนไฟที่แม้สุดท้ายจะอยู่ในน้ำจืดได้ พวกมันก็พากันล่องลอยลงไปสู่ทะเล ความพยายามของมาโมรุอาจสัมฤทธิ์ผล ในแง่การพยายามให้แมงกระพรุนอย่างนิมูระมีชีวิตอยู่ได้ในสังคมน้ำจืด แต่แมงกระพรุนย่อมเป็นแมงกระพรุน ความใฝ่ฝันและวัยหนุ่มสาวเป็นเช่นนั้น เพียงแค่การพิสูจน์ความเชื่อบางอย่างเพื่อที่จะให้มันถูกทำลายลงและมีชีวิตสืบต่อ
แม้พลอตเรื่องจะหนักแน่นและเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆก่อนหน้า แต่คุโรซาว่าก็ยังคงใช้ความพิเศษของทัศนียภาพแบบคุโรซาว่าอย่างเต็มที่ ห้องรกเรื้องหุ้มพลาสติก โรงงานแข็งเย็น โกดังสกปรก และกองขยะ ถูกนำมาจัดวางอย่างแห้งแล้ง ขณะเดียวกันตัวละครของเขายังคงถูกปอกเปลือกความเชื่อผ่านทางภัยคุกคามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ภัยคุกคามในหนังของเขาคือแบบจำลองความคิดเชิงอภิปรัชญา แล้วคุโรซาว่าก็คลี่มันให้เราเห็น
หนังเลือกจบด้วยฉากของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยติดตามนิมูระเข้าไปปล้นออฟฟิศพวกเขาคลุมหน้าด้วยเศษผ้าครอบด้วยหูฟังครอบหูที่เรืองแสงวิบวับ ยามวิ่งไปในความมืดดูล้ายกระพรุนไฟที่เคื่อนคืบและคายพิษสงแห่งความหนุ่มสาว ก่อนที่พวกเขาจะปรากฏอีกครั้งในชุดนักเรียนที่ปลดกระดุมออก ข้างในเป็นเสื้อยืดนักปฏิวัติหนุ่มผู้ไม่เคยตายอย่างเช เกววารา มีหลายคนเข้าใจว่านี่คือการประกาศอนาคตอันสดใสภายใต้การปฏิวัติของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดีคุโรซาว่ากลับเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในฉษกนี้นั้นที่แท้เด็กๆทั้งหมดล้วนอยู่ใน ‘ชุดนักเรียน’ พวกเขาเพียงแค่ประกาศอุดมการณ์ของตัวเองเอาไว้ข้างในด้วยเสื้อยืดลายเช อย่างไรก็ดี มันอาจจะเป็นเพียงแค่อีก ความฝันลมๆแล้งๆ เพราะในที่สุด เช นักปฏิวัติก็กลายเป็นเพียงสัญญะทางแฟชั่นบนลายเสื้อยืดของวัยรุ่นหนุ่มสาว แต่อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าวัยหนุ่มสาวคือสิ่งนั้นมันคือการลองผิดลองถูกพวกเขาอจโง่งมบ้าง อาจทำผิดพลาดบ้าง แต่พวกเขาก็ยังคงเป็น ‘อนาคตที่สดใส’ของมนุษย์ในรุ่นต่อไป
เทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ BRIGHT FUTURE นับว่าเป็นหนังที่อาจจะเท่ที่สุด เข้าถึงง่ายที่สุด ของคิโยชิ คุโรซาว่า และในขณะเดียวกัน นี่คือหนังที่อาจจะกล่าวได้ว่า สิ้นหวังน้อยที่สุดของคิโยชิ คุโรซาว่า ซึ่งแน่นอนว่า มันคนละเรื่องกับการที่หนังมีความหวังอยู่บ้างอย่างคนละความหมาย