ลัดดาแลนด์ (โสภณ ศักดาพิสิษฐ์ /2011/ไทย) ปีศาจปิตาธิปไตย

เปิดเผยเนื้อหาทั้งหมดของภาพยนตร์

เราต้องเริ่มจากเรื่องของผีมะขิ่นใช่ไหม เอางี้ดีกว่า เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากได้งานใหม่(ขายตรง) ธีซื้อบ้านใหม่ที่เชียงใหม่ในหมู่บ้านลัดดาแลนด์ แล้วให้ป่าน ภรรยาไปรับลูกสองคนคือแนน เด็กสาววัยรุ่นเกลียดพ่อ กับแนทลูกชายคนเล็กมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ลัดดาแลนด์  มันก็ดูเหมือนดีใช่ไหม อยู่กรุงเทพแม่ยายก็ดูถูก เกลียดลูกเขยยังกะอะไรดี เจ้านายเมียก็คอยกะลิ้มกะเหลี่ย มาอยู่เชียงใหม่ดีกว่า ให้เมียออกจากงาน เงินเดือนหกหมื่น ผ่อนบ้านสามหมื่น ที่เหลือก็รอคอมมิชชั่นจากบริษัท  เรื่องมันก็ดีนะ จนมีสาวใชชาวพม่าโดนฆ่ายัดตู้เย็นในบ้านที่ฝรั่งซื้อไว้ตากอากาศ จากนั้นทุกคนก็เห็นผีจนทยอยย้ายออกไปทีละบ้าน

ทีนี้ผีมะขิ่นคืออะไร คนงานพม่าปลายสุดของห่วงโซ่นิวเคลียร์แฟมิลี่ คนใช้ในบ้านที่ออกมาอาละวาดหลอกบรรดาเจ้านาย (หลายคนเคยจ้างมะขิ่นไปทำบ้าน แม้แต่พี่ธีของเรา) แต่มะขิ่นไม่มีอำนาจอะไรมากไปกว่านั้น ตอนอยู่ก็เป็นคนใช้ ตอนตายก็เป็นผีไม่มีบทบาท เธอเหมือนคนอาหารับใน คนนอกของกามูส์ เมอโซยิงคนอาหรับตาย แต่ไม่มีใครสนใจคนอาหรับ เขาสนใจเรื่องเมอโซไม่ร้องให้ในงานศพแม่มากกว่า เหมือนกับที่ไปๆมาๆก็ไม่มีใครสนใจเรื่องว่าใครฆ่ามะขิ่นอีกต่อไป มะขิ่นกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ของบ้านผีสิง เฉยๆ และผีที่มีบทบาทในหนังก็ไม่ใช่มะขิ่นเลย กล่าวโดยที่สุด มะขิ่นไม่มีตัวตนโดยแท้ เป็นผีโดยแท้

 

แต่คนที่เราสนใจคือเมอโซ เอ๊ย ธี  เอาเป็นว่า ถ้าเมอโซเป็น ‘คนนอก’ ธี ก็เป็น ‘คนใน’ของแท้  ธีไม่ได้ฆ่ามะขิ่น อันนี้บอกไว้ก่อนเลย จะได้ไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่เราสนใจจริงๆคือชีวิตแบบคนใน หรือคนอยากจะเป็นคนในของธี  ชายหนุ่มที่เมียท้องก่อนแต่งเลยต้องไปขอแต่ง แม่ยายไม่เคยชอบขี้หน้า ขายแอร์สิบห้าปีหาตังค์ไม่ได้ ลูกสาวคนโตก็โดนยายยุว่าพ่อมันไม่เอาไหน พอจะลืมตาอ้าปากได้ก็ตอนมาทำธุรกิจขายตรง ธี ชายไทยธรรมดาภายใต้กรอบคิดปิตาธิปไตย นิวเคีลยร์แฟมิลี่ จุดสุดยอดของวิธีคิดชายเป็นใหญ่ คือการได้เป็นหัวหน้าครอบครัว ในอาณาเขตรั้วรอบขอบชิด หน่วยย่อยสุดของครอบครัวก็คือบ้าน บ้านเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของความเป็นชาย เป็นเจ้าของบ้าน (แต่รถ ซึ่งแสดงภาพความเป็นคนทำงานหนุ่มสาวคนในของแท้ ของธีนั้นเป็นรถแม่ยายไม่ใช่รถเขาเอง)

 

อีทุนนิยมก็มาบรรจบกับเรื่องชายเป็นใหญ่กันตรงนี้ อันที่จริงต้องบอกว่า มันหล่อเลี้ยงกันและกันมากกว่า ความอยากได้อยากมีของธีไม่ใช่กิเลสต่ำช้า อะไรแบบพวกพอเพียงคิด แต่มันคือการแสวงหาการยอมรับในสถานะของผัวของพ่อ ของหัวหน้าครอบครัว ธีต้องจ่ายค่าบีบีให้ลูก ซื้อทีวีใหม่ให้ ซื้อบ้านใหม่ พยายามจะสร้างชิงช้าสี่ที่นั่งของตัวเอง เพราะช่วงเวลาแสนดีคือการไปโล้ชิงช้าร่วมกันแต่นั่นมันชิงช้าสาธารณะ สถานะเหมือนบ้านเช่านั่นแหละ ทีนี้มันก็เลยกลายเป็นเรื่องความเครียดเกี่ยวกับอาการหนี้ท่วมหัวไม่ต่างจาก ชายไทยชนชั้นกลางทั่วไป  มันไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบว่าเป็นพวกไม่รู้จักพออะไรเลย มันพวงเป็นพ่วงกันไปหมด  แต่มีทีวีใหม่ก็ไม่สามารถซื้อใจลูกสาวได้ เธอโดนผีหลอก และเขาพยายามแสดงความเป็นคุรพ่อรู้ดี (เพศชาย เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์) ด้วยการด่าลูกว่าโกหก น่าสนใจที่ปกติหนังในกลุ่มนี้ หนังสยองขวัญไม่ว่าจะเป็นบ้านผีสิงหรือไม่ มักเลือกให้ผู้หญิงเห็นผี (ความอ่อนแอ ลึกลับ Helpless Character) แต่ในหนังเรื่องนี้ป่านไม่เห็นผีเลย ธีเห็นคนเดียว แล้วreaction ต่อการเห็นผีของธี ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ เก็บไว้กับตัวไม่บอกใคร เป็นวิธีคิดแบบผู้ชายนั่นแหละ มันแมนดี เห็นผีแต่ไม่เชื่อ  ซึ่งความเป็นชายของธีมักจะนำเรื่องซวยๆมาให้ตลอด ตั้งแต่คืนแรกที่พยายามจะเซอร์ไพรส์เมียแล้วลงเอยเกือบวายวอด หรือการกร่างไปด่าข้างบ้านซึ่งทำให้เรื่องแย่ลงหรือการฆ่าแมว  หรือการใช้อำนาจกับลูกสาว ยิ่งทำให้ลูกสาวเกลียด และที่สำคัญที่สุดคือ ซื้อปืน

 

การซื้อปืนนี่คือสุดยอดความเป็นชายแล้ว การได้ปกป้องคนที่รักจากขโมย ซีนขโมยเข้าบ้านนี่ดีมากเพราะมันตอกย้ำลงในตัวธีว่าเขาสู้อะไรไม่ได้ แถมโดนเขวี้ยงหัวแตกอีก การซื้อปืนเหมือนการซื้อบ้าน มันสอดรับกับสถานะความมั่นคงใหนความเป็นชาย เป็นพ่อเป็นผัวให้กับธี แต่ปืนก็นำพาเรื่องยุ่งยากมาให้ เพราะความเป็นชายนั้นจริงๆอันตรายและเปราะบางสุดขั้ว เหมือนการชี้ปืน(อวัยวะเพศชาย) ไปหาคนอื่นนั่นแหละ ฉากที่พูดเรื่องนี้อย่างหนักหน่วงคือฉากที่ธี นึกว่ายิงป่านตาย หลังจากคิดเองเออเองว่าเธอคบชู้

 

แต่ธีไม่ใช่ตัวแทนของความเป็นชายขั้นสุด ความเป็นชายขั้นสุดเป็นเรื่องเลวร้าย ตัวละครที่เป็นพิมพ์เขียวเรื่องนี้คือ ครอบครัวพี่เกียรติข้างบ้าน ผู้ชายหัวหน้าครอบครัวที่ตีเมีย ตบลูกเลี้ยงแม่แก่ และกลายเป็นผีตัวจริงที่จริงยิ่งกว่ามะขิ่น  เมื่อพี่เกียรติชีวิตล่มเลยยิ่งตายทั้งครอบครัวเสียเลย พี่เกียรติเป็นพิมพ์เขียวขั้นกว่าของธี ซึ่งโดนทรยศเรื่องงาน แล้วไปเป็นพนักงานสะดวกซื้อ(ฉากลูกสาวมาซื้อของนี่หนักมาก) ยิ่งตกงาน ที่เดียวที่ธีจะยึดได้ก็คือบ้าน(การให้เมียออกจากงานมาเลี้ยงลูกนี่ก็เป็น ปิตาธิปไตยแบบขั้นเทพเหมือนกัน) ความเป็นชายขั้นสุดของพี่เกียรตินั้นทำให้ครอบครัวของเขาตาย และกลายเป็นผีมาหลอกธี (หลอกธี คนเดียวด้วยซ้ำ เพราะกว่าลูกสาวจะเจอผีครอบครัวนี้ก็ท้ายเรื่องหลังจากแตกหักไปหมดแล้ว ส่วนการที่ลูกชายเจอนั้นจะต้องพูดต่อไป )  กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือปิตาธิปไตยนี้เองเป็นผีของธี เป็นสิ่งที่ธีฝันถึงและเป็นฝันร้ายที่คอยหลอกหลอน ผลักดันให้ทุกอย่างดำเนินไป

แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงในเรื่องเป็นสิ่งถูกกดขี่แต่เพียงอย่างเดียวเสีย เมื่อไหร่ หนังวางน้ำนหักตัวละครฝั่งผู้หญิงกับฝั่งผู้ชายได้น่าสนใจมาก เพราะลูกสาว(ผลผลิตของระบอบนี้)เกลียดพ่อ เมียอาจจะมีงานทำที่มั่นคงกว่า และแม่ยาย ซึ่งร่ำรวยกว่าเห็นๆ เป็นสามตัวละครที่กดลงมาบนบ่าของธีในน้ำหนักแตกต่างกัน ความเกลียด (แม่ยาย) ความรัก(เมีย) และความโกรธ การต่อต้าน(ลูกสาว) มันยิ่งทำให้ความเป็นชายของธีไม่มั่นคงเอาเสียเลย มันเลยยิ่งทำให้เขาต้องขวนขวายหาอะไรมาค้ำจุนศักดิ์ศรีของตัวเอง อย่างเช่นบ้าน ที่น่าเศร้าคือบ้านยังเป็นชื่อผู้หญิง ลัดดาแลนด์ ในขณะที่จุดจบของเรื่องคือการที่ธีใช้ความเป็นชาย(ปืน) ทำลาย หน่อเนื้อเชื้อไขผู้สืบทอดระบบคิดชายเป็นใหญ่ด้วยตัวเอง ผลก็มาจากความเป็นชายของตัวเอง ความตายอขงธีจึงเป็นบัดพลีสังเวยต่อระบบคิดชายเป็นใหญ่ที่เขาอาจจะไม่รู้ตัว นี้เอง กล่าวถึงที่สุดลัดดาแลนด์จึงฉายภาพแรงกดของชายไทย ชนชั้นกลางได้อย่างน่าสนใจ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่) บ้านจัดสรร หนี้สิน การตกงาน แรงกดของคนรุ่นก่อน(แม่ยายพ่อตา แม่ตัว พ่อตัวพ่อแม่พี่น้อง อย่าลืมว่าความป่วยไข้ของแม่พี่เกียรติก็เป็นรูปแบบหนึ่งของแรงกด)

การตกเป็นเหยื่อของชายไทยต่อความเป็นชายในหนังเรื่องนี้จึงสะท้อนย้อน กรอบคิดของตัวหนังทำนองนี้เองที่มักเทน้ำหนักให้ผู้หญิงซึ่งถูกกดขี่  เรียกร้องกาต่อสู้ของผู้หญิง (แต่เธอก็ตกเป็นเป้าสายตาในหนังนะ เป็นเหยื่อของผู้ชม ซึ่งเรื่องนี้โสภณเคยพูดไว้ใน ‘โปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาต’ ที่จับเอาเหยื่อมาเป็นผี (พวกมึงมาดูกูตายใช่ไหม)) ผู้ชายในเรื่องนี้ตกเป็นเหยื่อของการอยากเป็นชายเต็มตัวของตัวเอง  แต่ถึงที่สุดผู้หญิงคือคนที่ยังอยู่รับเคราะห์ต่อไป

ที่น่าสนใจคือการที่หนังเรื่องนี้มาจากสตูดิโอพาฝันคนชั้นกลางอย่างGTH สตูดิโอซึ่งทำหนังหล่อเลี้ยงความฝันเชิงปัจเจก ของคนชั้นกลสง การหันมาวิพากษ์ สิ่งซึ่งอยู่ ‘ใต้พรม’ของชีวิตชนชั้นกลาง(ที่เป็นลูกค้ากลุ่มหลักของหนัง) จึงเป็นเรื่องน่าตืนตาตื่นใจ ยิ่งพิจารณาว่าหนังไม่พยายามให้ทางออกที่สวยงามจนเกินงาม(อย่างไรก็ดีฉาก ติดไฟแดงท้ายเรื่องก็ยังเป็นการคลี่คลายแบบจบสวยเอาใจผู้ชมรูปแบบหนึ่งนั่น แหละ  แต่มันก็น่าสนใจในแง่ที่ว่าถ้าถอยมาหน่อย โครงเรื่องมันยังเป็นเรื่องของคนชั้นกลางในกรุงเทพที่ถูกคุกคามในต่าง จังหวัด (จุดนี้โดนเน้นชัดผ่านโทรศัพท์จากยาย) ตัวละครชนชั้นกลางในกรุงเทพย้ายมาอยู่แปลกที่บ้านป่าเมืองเถื่อนแล้วโดน คุกคาม มันดูไกลตัวออกไปหน่อย อาจจะพูดแบบนั้นก็ได้ และมันก็ถือเป็นการกล่าวร้ายจนเกินเลย

สรุปถึงที่สุด ลัดดาแลนด์จึงเป็นหนังไทยที่น่าตื่นเต้นในแง่ความหนักแน่นของบท (จุดอ่อนเดียวของหนังคือผีตกใจนั่นเอง ยิ่งผีตกใจมากเท่าไหร่แสดงให้เห็นว่าประสทธิภาพในการคุกคามคนดูของผู้กำกับ ยิ่งต่ำลงเท่านั้น) และยิ่งน่าตื่นเต้นอีกหลายเท่าที่มันเป็นหนังที่ออกมาจาก สตูดิโอ GTH

One thought on “ลัดดาแลนด์ (โสภณ ศักดาพิสิษฐ์ /2011/ไทย) ปีศาจปิตาธิปไตย”

  1. ตื่นตาตื่นใจกับการวิเคราะห์เช่นกันครับ

Leave a reply to thanacreatis Cancel reply